ถ้ำนาคา (Naka Cave) ช่องเขาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา (Phu Langka National Park) จ.บึงกาฬ… ท่ามกลางผืนป่าที่ยังไม่ถูกสำรวจแบบจริงจัง จึงทำให้ภูเขาลูกนี้ซ่อนสิ่งอัศจรรย์จากธรรมชาติไว้มากมาย
โดย EP แรกนี้!! ผมจะพาเพื่อนๆ ไปชมถ้ำที่มีลวดลายคล้ายเกร็ดงู หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าถ้ำนาคา สมบัติอันล้ำค่าทางด้านธรณีวิทยา (Geology) ของไทย
ทางเดินเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างช่องเขา ผนังที่ถูกปกคลุมไปด้วยมอส และพรรณไม้ป่าอันเขียวขจี… คือประตูสู่ถ้ำนาคา อลังการ งดงามไม่ซ้ำใคร!!
เดินเท้าต่อมาอีกไม่เท่าไหร่ เพื่อนๆ ก็จะพบหินที่มีลักษณะคล้ายลำตัวของงู หรือลำตัวพญานาคตามที่ชาวบ้านได้เรียกกัน… ซึ่งจุดนี้เองที่สร้างความฮือฮา ดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวอยากมาชมความงดงามด้วยตาตัวเองดูสักครั้ง (ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น)
Mission complete!! ได้รูปเท่ๆ สมใจ ^_^ เดินสำรวจถ้ำต่อได้!!
เดินมุดลำตัวพญานาคไปทางซ้าย… โถงถ้ำที่มีความลึกลับ ด้วยแสงเงาที่สาดส่องผ่านซอกหินน้อยใหญ่ โครงสร้างของถ้ำ และชั้นหินลักษณะแปลกตา สร้างความว้าว!! ให้สายอินดี้อย่างผมได้ไม่น้อย
ภายในโถงถ้ำ มีพระพุทธรูปปางนาคปรก ขนาดหน้าตัก 19นิ้ว 9เศียร ที่ถูกอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา… ให้ผู้มาเยือนได้กราบนมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
ถัดจากพระพุทธรูป จะเป็นพื้นที่โล่งริมหน้าผา ซึ่งจุดนี้เองก็จะมีลายกำแพงหินเท่ๆ ให้ได้เก็บภาพเช่นกัน
ด้วยสภาพอากาศ และลักษณะทางธรณีวิทยาของภูลังกาแห่งนี้… ส่งผลให้ความสวยงามของถ้ำนาคา แตกต่างไปตามแต่ละฤดูกาล
มอส และพรรณไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ตามซอกเขา หินสีน้ำตาลแดงมันวาวที่ชุ่มน้ำ… คือเซ็ตภาพจากช่วงฤดูฝนที่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงหลายๆ อย่าง (ตามข้อแนะนำด้านล่าง**)
เดินย้อนกลับไปจุดที่เรามุดมาตอนแรก… ทางด้านขวาของลำตัวพญานาค ยังมีทางเดินเล็กๆ ที่บรรจบลงด้วยทางตัน ที่เหมือนจะไม่ตัน?? ซอกเขาที่เหมือนรอให้ใครสักคนเข้าไปค้นหา… (ไปคนเดียวผมเลยไม่กล้าบู้มากอ่าาาา~~)
ซึ่งความสวยงามของธรรมชาติระดับนี้… แน่นอนว่าผมไม่จบแค่พญานาคถูกสาปเป็นหินแน่ๆ!!
และต้องขอขอบคุณ ดร.ปริญญา พุทธาภิบา อาจารย์ประจำวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจ และนำข้อมูลมาเผยแพร่เป็นความรู้ให้ประชาชน และหนูจำไมอย่างผมได้ศึกษา-ใช้ประกอบการเถลไถลในครั้งนี้…
ไม่แปลกอะไร ที่หลายๆ คนให้ความสนใจกับถ้ำแห่งนี้… เพราะถ้ำที่เราเที่ยวๆ กันในประเทศส่วนใหญ่เป็นถ้ำหินปูน แต่!! ถ้ำนาคาที่ถูกค้นพบนี้เป็นถ้ำในชั้นหินตะกอนแม่น้ำ ที่เกิดจากการสะสมตะกอนในลุ่มน้ำบรรพกาล ก่อนการแข็งตัวกลายเป็นหินตะกอนประมาณช่วงปลายถึงหลังยุคไดโนเสาร์ หรือเมื่อ 65 – 66 ล้านปีก่อน
ส่วนลวดลายคล้ายเกร็ดงูที่พบ คือริ้วรอยแตกของระแหงโคลนบรรพกาล หรือระแหงโคลนดึกดำบรรพ์ (paleo-mud cracks or fossil-mudcracks) ที่เกิดพร้อมการสะสมตะกอน และการแข็งตัวเป็นชั้นหินตะกอนขนาดต่างๆ โดยหินทรายชั้นบนเนื้อจะละเอียดกว่า จึงแตกคล้ายเกล็ดงูขนาดเล็ก ส่วนชั้นหินทรายเนื้อหยาบที่อยู่ด้านล่าง จะแตกเป็นเศษก้อนหินคล้ายเกล็ดงูที่มีขนาดใหญ่… เมื่อผ่านกระบวนการผุผังมานาน ขอบเดิมของเศษหินที่เป็นเหลี่ยมมุมค่อยๆ มนลง จึงมีลักษณะพลิ้วไหวเหมือนเกร็ดงูอย่างที่เพื่อนๆ ได้เห็นกัน
จากข้อมูลการลงพื้นที่ทั้งหมดของดร.ปริญญา พุทธาภิบา อาจารย์ประจำวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงสรุปได้ว่า “ลวดลายคล้ายเกร็ดงู หรือพญานาคถูกสาปเป็นหินที่ชาวบ้านเรียกกัน คือ รอยแตกระแหงโคลนบรรพกาล และการเกิดการผุผังสึกกร่อนของหินทราย และร่องรอยแตกในอัตราที่ต่างกัน”
ซึ่งนอกจากหินที่มีลักษณะคล้ายลำตัวของงู หรือลำตัวของพญานาคแล้ว… ทั่วบริเวณภูลังกายังมีหินที่มีลักษณะคล้ายหัวงู หรือหัวพญานาคตามที่ชาวบ้านเรียกกันอยู่อีกหลายจุดอีกด้วย
โดยหัวนาคา3 จะอยู่ระหว่างทางขึ้นถ้ำนาคา ฝั่งสำนักสงฆ์ฐิติสาราราม (วัดตาดวิมานทิพย์)
ส่วนหัวนาคา1 จะอยู่ระหว่างทางไปถ้ำหลวงปู่วัง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากถ้ำนาคาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
เดินเท้าจากหัวนาคา1มาอีกนิด เพื่อนๆ ก็จะพบลานกว้างที่แทรกตัวอยู่ริมผา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าถ้ำหลวงปู่วัง ซึ่งเป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานของพระสายธุดงค์หลายๆ รูป นอกจากนี้ยังถือเป็นจุดพักเหนื่อยของนักท่องเที่ยวที่ดีที่สุดบนเขาลูกนี้
ความเหนื่อยล้า และพลังงานที่ใช้ไปเริ่มหมดลง… ได้เวลาข้าวเหนียวหมูปิ้ง!! ที่หิ้วติดกระเป๋ามาด้วยตลอดทาง 555+ (โคตฟิน!!)
สำหรับเพื่อนๆ คนไหนอ่านมาถึงจุดนี้ แล้วอยากตามมาเถลไถล… ผมมีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เพื่อนๆ เที่ยวได้สนุกขึ้นดังนี้…
ข้อแนะนำ & ทริคเล็กๆน้อยๆ
- ทางเดินเป็นเส้นทางธรรมชาติ ~90% มีช่วงที่เป็นบันไดให้ปีนป่ายบ้างในบางจุด
- ใช้เวลาเดินขึ้น 1-3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และความฟิตของแต่ละคน)
- รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้ารัดส้นลุยๆ ช่วยได้เยอะ
- พกน้ำดำดื่ม ขั้นต่ำ 1ขวดเล็ก (600ml++) (ช่วงฤดูฝน สามารถเติมน้ำได้ถ้ำหลวงปู่วัง)
- ปัจจุบัน อท.ได้ติดอุปกรณ์ป้องกันพวกมือบอน ถ่ายรูปออกมาอาจจะไม่อลังเหมือนในรีวิว
- ทุกอย่างที่ถือขึ้นไป เอาลงมาด้วยทุกชิ้น!! (ขวดน้ำ ยันไม้จิ้มฟัน)
- รับนทท.ได้วันละ 350 คน โดยต้องทำการจองผ่าน App. QueQ (เปิดจองล่วงหน้า 15วัน)
- ให้เที่ยววันปกติ จะได้สัมผัสกับความเงียบสงบ และธรรมชาติที่แท้จริง!! (เราเตือนแล้วนะ…)
- เที่ยวฤดูฝนสวยก็จริง แต่เส้นทางจะลื่น และอัตรายมาก แถมต้องวัดดวง!! ถ้าฝนตกหนักก็ไม่ได้ขึ้น
- ห้ามเดินออกนอกเส้นทาง เพราะหลงแน่นอนครับ!!
- ให้เดินขึ้นตั้งแต่เช้า ชิลล์ๆ ไม่งั้นอาจร้อนจนถอดใจ…
- อัพเดทข้อมูล และกฎระเบียบจากอุทยานแห่งชาติภูลังกาก่อนเดินทางตลอดๆ >> FB: อุทยานแห่งชาติภูลังกา
บนภูเขาลูกนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย… EPหน้าผมจะพาไปเถลไถลจุดไหนต่อ รอติดตามชมได้เร็วๆ นี้เลยจ้า…
Google Map / แผนที่